ช่วงยุคเฟื่องฟูของ E30 สำนักแต่งหลายเจ้าก็ไม่พลาดที่จะหาวิธีเสริมหล่อให้กับมันเพราะรู้ดีว่ายอดจำหน่ายของมันนั้นมหาศาลเพียงใด และนั่นก็น่าจะเป็นวิธีการโกยเงินเข้าบริษัทอีกทางหนึ่ง ข้อดีก็คือหลังจากที่หลายสำนักต่างพัฒนาเพื่อให้ตัวเองเป็นสุดยอดของการตกแต่ง E30 ผลคือเราสามารถที่จะเลือกชุดแต่งเหล่านั้นให้ตรงกับคาแร็กเตอร์ที่เราต้องการ
ล้อ ZENDER ห้าก้าน 15 นิ้ว สเปค E30 ‘ตรงรุ่น’ ไอเทมที่หายากที่สุด
Hans-Albert Zender ชายชาวเยอรมัน ผู้หลงใหลในการตกแต่งรถยนต์ แต่ด้วยสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างฝืดเคืองทำให้เขาไม่สามารถซื้ออุปกรณ์ตกแต่งที่มีราคาสูงทั้งหลายมาใส่รถของเขาได้ เมื่อเขาอายุได้ 23 ปี ก็เกิดแนวคิดที่ทำให้เขาเริ่มสร้างชิ้นส่วนต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เขาเริ่มจากการคิดค้นและสร้างเบาะบักเก็ตซีทที่เหมาะสมกับตัวเขาด้วยตัวเองทุกขั้นตอนแบบ One Man Show ก่อนจะขยับขยายไปทำชิ้นส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติม
ด้วยฝีไม้ลายมือที่ทำให้ได้มาซึ่งผลงานคุณภาพระดับสูงทำให้ไม่นานชื่อเสียงของอุปกรณ์ตกแต่งที่ผ่านมือของ ZENDER นั้นโด่งดังไปทั่วโลก จนเป็นผู้นำในเรื่องของการออกแบบ เขาสามารถค้นคว้าลักษณะเฉพาะของพลาสติกเสริมเส้นใยที่สามารถรับแรงได้อย่างดี จนภายหลังเขาก็ได้ออกแบบชุดแอโรพาร์ท ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ในสายงานยานยนต์ของ ZENDER ด้วยแนวคิดที่โดดเด่นในเรื่องของชุดพาร์ทใต้ท้องแบบ Diffuser ทำให้ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้น ค่ายรถยนต์ชั้นนำบางรายยังเป็นลูกค้าของเขา และเฟื่องฟูขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด ก็ถึงขั้นผลิตรถของตัวเองโดยใช้พื้นฐานของ Audi Quattro ที่เรียกว่า ZENDER Vision1S ซึ่งโชว์ตัวครั้งแรกในงานแฟรงก์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ ปี 1983
และ ZENDER ก็ออกแบบชุดแต่งให้กับ E30 เช่นกัน ด้วยเส้นสายที่มันดูเรียบง่าย แต่ก็ลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อมันอยู่กับรถเยอรมันเท่านั้นยังไม่พอ สำนักแต่งหลายสำนักยังว่าจ้างให้ ZENDER ทำชุดแอโรพาร์ทให้ ลองสังเกตดูชุดแต่งบางยี่ห้อ ด้านข้าง ด้านหลังจะมีทรงที่คล้ายกันเพียงแต่จะไปตีแบรนด์ไหนแค่นั้นเอง นั่นเพราะมันออกมาใต้ชายคาโรงงานเดียวกันนี่เอง โดยชุดแต่งสำหรับรุ่นกันชนเล็กของ ZENDER จะมีสองแบบคือชุดนี้ และอีกชุดที่เป็นมีสปอยเลอร์หลังยาวมาถึงเสาซีด้านหลัง ล้อห้าก้านขนาด 15 นิ้ว เป็นไอเทมที่เจ้าของรถ คุณทอม บอกกับเราว่าเป็นชิ้นที่หายากที่สุดและเขาก็ได้พบเจอมันโดยบังเอิญในโกดังที่ถูกเก็บไว้อย่างไร้ค่า ที่บอกว่าหายากเพราะนี่คือล้อ ZENDER สเปค E30 ‘ตรงรุ่น’ เพราะส่วนใหญ่ที่เจอนั้นจะเป็นออฟเซตสำหรับ VW Golf เสียเป็นส่วนใหญ่
ล้อลาย 11 ก้าน สิ่งที่ยืนยันตัวตนของ HARTGE
สำหรับ HARTGE ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1971 ในเมือง Merzig ประเทศเยอรมนี โดย Herbert Hartge ก่อนจะย้ายไปในเมือง Beckingen ในปี 1974 โดยงานถนัดของ HARTGE คือการโมดิฟาย 3 Series กันแบบสุดขั้ว ซึ่งก็ดูจะเป็นมวยคู่เอกกับ ALPINA เพราะไม่ว่าสำนักนั้นจะสร้างตัวแรงรุ่นไหนออกมา HARTGE ก็จะมักจะส่งคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อมาด้วยตลอด
อย่างเช่น ALPINA มี C1 2.3 ช่วงเวลานั้น HARTGE ก็เห็นช่องทางในการจับเอา 323i 2.3 ลิตร มาทำเป็น HARTGE H23 ด้วยความเจ๋งของแคมชาฟท์และกำลังอัดที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีกำลังถึง 170 แรงม้า และต่อยอดด้วย HARTGE H26 ที่เพิ่มแรงม้าเป็น 190HP ด้วยก้านสูบและลูกสูบเพิ่มกำลังอัด แต่ในยุคนั้นตัวเด็ดของค่ายนี้จริง ๆ ก็ต้องยกให้ HARTGE H35-24 ที่เอาเครื่อง M5 มาวางใน E30
ในคันนี้เป็น HARTGE H26 โดยนอกจากชื่อรุ่นที่นำด้วย H แล้วต่อด้วยเลขท้ายที่แสดงถึงความจุของเครื่องยนต์ สิ่งที่ยืนยันตัวตนของ HARTGE ก็คงหนีไม่พ้นล้อลาย 11 ก้าน ที่ผลิตโดย RONAL กับชุดแต่งรอบคันที่เป็นลักษณะต่อชายให้เตี้ยลง
BBS ล้อแม็กยอดนิยมของนักซิ่งยุค 90’s
BBS ก่อตั้งขึ้นในปี 1970 โดย Heinrich Baumgartner และ Klaus Brand ใน Schiltach โดยชื่อบริษัทก็เป็นตัวย่อของเขาทั้งสองกับเมืองที่ตั้งของโรงงานนั่นเอง (Baumgartner Brand Schiltach) โดยเริ่มจากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์พลาสติก และในปี 1972 พวกเขาปฏิวัติการออกแบบล้อของวงการมอเตอร์สปอร์ต ด้วยการเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาล้อรถแข่งแบบ 3 ชิ้น และความเชี่ยวชาญในการผลิตล้ออัลลอยของพวกเขาทำให้ BBS กลายเป็นผู้ผลิตล้อให้กับค่ายรถยนต์รายใหญ่ของโลกมากมายและแน่นอนรวมถึง BMW ด้วย
การออกแบบล้อ Cross-Spoke เป็นล้อยอดนิยมสำหรับรถสปอร์ตช่วงปี 80-90’s และหนึ่งในล้อที่ BBS ผลิตแล้วได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น BBS RS ล้อสามชิ้นที่เปิดตัวขึ้นในปี 1977 มันได้รับการออกแบบให้มีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับรูปแบบอื่นในช่วงเวลานั้น และเป็นที่นิยมมาถึงในปัจจุบัน
โดยนอกจากการเป็นผู้ครองแชมป์ล้อแม็กยอดนิยมของนักซิ่งยุค 90’s ที่ทำให้ชื่อของ BBS เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากล้อลายรังผึ้งสานกันถี่ยิบ ที่เวลาล้างทีต้องน้ำตาตกนั้น มันไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่ BBS สร้างมันขึ้นมา พวกเขายังได้ดีไซน์อุปกรณ์ตกแต่งต่าง ๆ อย่างพวกพวงมาลัย และชุดแต่งรอบคันอีกด้วย ซึ่งจุดเด่นของชุดพาร์ทจากค่ายนี้จะอยู่ที่เส้นที่กรีดร่องรอบคันที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ..
AC Schnitzer ผู้ปรับแต่งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในบาวาเรียน
เรื่องราวสำหรับสำนักแต่งที่เป็นทีมแข่งเคียงบ่าเคียงไหล่กับ BMW มาโดยตลอดนั้น เกิดขึ้นในปี 1987 โดย Herbert Schnitzer และ Willi Kohl ที่ร่วมมือกันเปิดโรงงานเพื่อปรับแต่ง BMW, MINI และ Land Rover ภายใต้ชื่อ Schnitzer ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น AC Schnitzer โดยการเติม AC ลงไปด้านหน้าก็เพื่อเป็นการบ่งชี้ถึงเมือง Aachen ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของโรงงาน Schnitzer นั่นเอง
เริ่มแรกเขาเรียกเสียงฮือฮาด้วยการเปิดตัว 7 Series E32 ที่ตกแต่งโดย Schnitzer เป็นคันแรกที่งาน IAA แฟรงก์เฟิร์ตในปีเดียวกับที่เปิดบริษัท ในปี 1989 พวกเขาก็ไม่มีทางที่จะยอมให้ E30 ผ่านไปแบบเรียบง่ายโดยไม่ชายตามอง เขาได้ปรับแต่งมันด้วยชุดแต่งแบบดูมีหลักแอโรไดนามิก และแน่นอนว่าพวกเขาไม่หยุดแค่การตกแต่งภายนอกเท่านั้น เครื่องยนต์ของ ACS3 ถูกปรับแต่งให้มีความแรงมากขึ้น
นับแต่นั้นมา Schnitzer ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น และร่วมสร้างประวัติศาสตร์ด้านมอเตอร์-สปอร์ตในฐานะการเป็นทีมแข่งของ BMW บ่อยครั้ง โดยถือเป็นผู้ปรับแต่งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในบาวาเรียน ในปัจจุบัน AC Schnitzer เป็นส่วนหนึ่งของ Kohl Group ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจยานยนต์ขนาดใหญ่ และยังมีเครือข่ายของตัวแทนจำหน่ายสินค้าของ AC Schnitzer อยู่ทั่วโลก ที่พร้อมให้บริการภายใต้คอนเซ็ปต์ “AC Schnitzer pits are never far away…”
ALPINA B3 2.7 กับชุดพาร์ทรอบคันอันเป็นเอกลักษณ์
สำหรับสำนัก ALPINA นี้คงไม่ต้องเอ่ยอะไรกันมาก ถึงโรงงานเปลี่ยนจาก BMW ที่มีสมรรถนะสูงอยู่แล้ว ให้มีสมรรถนะที่สูงยิ่งขึ้น และมีบุคลิกเป็นของตัวเอง โดยเริ่มจากการที่ Burkard Bovensiepen ก่อตั้งบริษัทในเมือง Bochloe เมื่อปี 1965 ด้วยพนักงานเพียง 8 คน ที่สานต่อกิจการเครื่องพิมพ์ดีดของครอบครัว แล้วเครื่องพิมพ์ดีดเป็นรากฐานให้กับวงการรถยนต์ได้อย่างไร ?
ก่อนหน้านั้น Burkard Bovensiepen เคยใช้รถ FIAT 1500 และโมดิฟายมันด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ซ่อมเครื่องจักรในโรงงานผลิตเครื่องพิมพ์ดีด ALPINA ของครอบครัวเขา จนแรงม้ามันเพิ่มจาก 67 เป็น 75 ตัว ก่อนที่มันจะพลีชีพไปด้วยอาการเพลาข้อเหวี่ยงขาด จนกระทั่งในปี 1961 ที่แฟรงก์เฟิร์ต BMW ก็ได้เผยโฉม BMW 1600 ซึ่งเขากับเอามันมาโมดิฟายด้วยคาร์บูเรเตอร์ WEBER คู่ พร้อมปากแตรทรงสั้น ผลปรากฏมันมีแรงม้าสูสีกับ BMW 1800 ที่ ตามออกมาในสองปีให้หลัง และเร่งความเร็วได้สูงสุดถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ซึ่งหลังจากชุดคิทคาร์บูเรเตอร์ซิ่งชุดแรกที่เขาทำออกมา ก็ได้พัฒนาส่วนควบอื่น ๆ ตามมา อย่างเช่น ลูกสูบ เพลา ที่ผ่านการคำนวณและทดสอบอย่างหนักก่อนนำออกขายจริง จนภายหลัง BMW ก็ให้การรับรองชิ้นส่วนอัพเกรดของ ALPINA ให้อยู่ในการรับประกันของทางบริษัทด้วย นั่นหมายความว่า คุณสามารถอัพเกรดเป็น ALPINA ได้โดยไม่หลุดประกัน และ ALPINA ก็ยังช่วยสนับสนุนทีม BMW Motorsports ในการแข่งขันอีกมากมาย
สำหรับคันสีแดงที่มีชุดพาร์ทรอบคันอันเป็นเอกลักษณ์นี้เป็น ALPINA B3 2.7 ซึ่งเป็นรถที่ ALPINA หยิบมาพัฒนาขึ้นจาก 325i ด้วยการขยายความจุเป็น 2.7 ลิตร 204 แรงม้า กับแรงบิด 265 นิวตัน-เมตร และทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 227 กิโลเมตร
ถ้า เบญจภาคี รวบรวม สมเด็จวัดระฆัง พระนางพญา ซุ้มกอ พระผงสุพรรณ และพระรอด เป็นสุดยอดพระเครื่องที่ทรงคุณค่าของวงการพระเครื่องเมืองไทย ชุดพาร์ททั้งห้านี้ก็เป็นชุดพาร์ทที่สุดยอดและล้ำค่าสำหรับชาว E30 ไม่ต่างกัน ซึ่งแล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนว่ารักค่ายไหนชอบค่ายไหน แต่บอกเลยว่าตอนนี้ชุดพาร์ท ‘แท้ ๆ’ แบบนี้นั้นหาไม่ง่ายแล้ว ถ้าเปรียบกับชุดพระเครื่องก็แทบจะเลี่ยมขึ้นคอเพื่ออวดได้เลย
BMWCar Magazine Thailand Issue 49, January-February 2019
สมัครสมาชิกนิตยสารรายปี 6 เล่ม เพียง 1,000 บ. รับฟรี #BIMMERMEET3 T-Shirt Limited Edition มูลค่า 500 บ. คลิก bit.ly/BMWCar-Line
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น