ท่ามกลางความตื่นตาตื่นใจกับ 3 Series G20 ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุดในประเทศไทยไปนั้น เราจะพาคุณย้อนกลับตอนที่ BMW 02 Series เดินทางมาถึงกลางทศวรรษที่ 70’s และ Herbert Quandt ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับรถยนต์ขนาดเล็กที่กำลังไปได้สวยนี้ โดยมอบหมายให้ Paul Bracq ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบรับผิดชอบโปรเจ็กต์นี้
จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคมปี 1975 ก็มีการเปิดตัวผลงานศิลปะชั้นยอดสู่สายตาประชาชนครั้งแรกที่ Munich Olympic Stadium ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ 02 Series รุ่นต่าง ๆ ถูกแทนที่ด้วย 3 Series รุ่นแรกอย่าง E21 ที่ยังคงเสน่ห์ที่สวยงามมาจนถึงปัจจุบัน และถ่ายทอด DNA ไปยัง G20 รุ่นล่าสุด
การปรับปรุงแก้ไขใหม่ในทุกส่วนสัดทำให้ E21 ฉีกกรอบภาพลักษณ์ของรถยุค 70’s ไปอย่างสิ้นเชิง เส้นสายความโค้งมนจาก 02 Series ถูกเติมเหลี่ยมให้คมเข้มมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้มันเป็นผู้นำเทรนด์รถเหลี่ยม ๆ แบบนี้ แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ด้วยมุมมองด้านหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยกระจังหน้าไตคู่ และมุมจิกของกระจังหน้าที่ผู้คนต่างตั้งสมญานามให้มันว่าเป็น BMW ‘หน้าฉลาม’ ที่มีความคล้ายคลึงเช่นเดียวกับ E12 และ BMW รุ่นอื่น ๆ ในยุคนั้น และเพื่อย้อนรำลึกถึงชื่อเสียงอันยิ่งใหญ่ทั้งในแง่ของรถถนนที่สวยงามสุดคลาสสิก และรถแข่งที่น่าเกรงขามในรายการแข่งขันทั่วยุโรป ครั้งนี้เราจึงเอาฮีโร่ที่เคยโด่งดังในอดีต ที่ฟื้นฟูสภาพมาใหม่หมดจด มาให้ชมกันทั้งแบบเรียบหรูในลุคใช้งานของ BBS และดุดันในมาดตัวแข่ง Group 2
ด้วยการนัดหมายผ่านแอพพลิเคชั่นบนโซเชียลกับเจ้าของรถ E21 สีแดงใส่ล้อ BBS โดยไร้ซึ่งการพบเจอกันมาก่อน ทำให้หลับตานึกถึงภาพของหนุ่มใหญ่วัยกลางคนที่คงจะผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอ ๆ กับอายุของรถ จนกระทั่งถึงวันนัดหมาย ก็ต้องประหลาดใจเมื่อปรากฏว่าเจ้าของรถคันนี้กลับกลายเป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ที่คะเนว่าอายุน่าจะราว ๆ ยี่สิบบวกลบไม่เกินสองปีอย่าง น้องบูม ที่หลงใหลในเรื่องราวของรถ BMW คลาสสิก และเป็นเจ้าของที่ฟื้นคืนชีพมันด้วยความรักในบอดี้จน E21 คันนี้ออกมาสวยเช้งอย่างที่เห็น
“ผมชอบรถที่เป็นไฟกลมอยู่แล้ว และราคาของมันยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ก็เริ่มมองหามันจากตลาดซื้อ-ขายออนไลน์ จนกระทั่งมาเจอคันนี้เมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว โดยวันที่ผมไปเอา เรียกว่าขับกลับมาได้ก็บุญแล้ว” น้องบูมเริ่มเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของรถคันนี้ ซึ่งยังมีเรื่องให้สาธยายอีกมากถึงสภาพของมันในตอนแรกที่เราคงจะนึกภาพตามยากหน่อยหลังจากได้เห็นมันอยู่ในสภาพสมบูรณ์อย่างตอนนี้แล้ว รอยผุนับไม่ถ้วนที่เกิดจากการที่ถูกสนิมเล่นงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรอบ ๆ ซุ้มล้อ ถูกซ่อมแซมจนเกลี้ยงด้วยเหล็กแผ่นใหม่ชิ้นแล้วชิ้นเล่าจนรถคันนี้ไม่เป็นรูโบ๋ ก่อนที่ตัวถังจะถูกพ่นสีและขัดเงาบรรดาคิ้วสเตนเลสใหม่ พร้อมกับเพิ่มสเกิร์ตหน้าและล้อแม็กจากค่าย BBS ที่เป็นสำนักแต่งคู่บุญ ทำให้เหมือนได้ย้อนกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองที่มันออกมาใหม่ ๆ อีกครั้ง
ต้นตระกูลของ 3 Series นั้นเริ่มต้นด้วยตัวถังแบบคูเป้เพียงรูปแบบเดียว ตำแหน่งเบาะนั่งและเสาหลังคาที่บางเฉียบ ทำให้มีทัศนวิสัยอันเยี่ยมยอด การหันคอนโซลทั้งหมดเข้าหาคนขับเป็นคุณลักษณะที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในปรัชญาการออกแบบภายในของ BMW ตั้งแต่นั้นมาจนถึงยุคปัจจุบัน เพื่อเน้นความสำคัญให้ผู้ขับขี่ได้เอนจอยกับรถได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดถูกฟื้นฟูสภาพมาจนใหม่เอี่ยม ขณะที่กำลังชื่นชมความงามของการตกแต่งแบบไร้ความฉูดฉาดนี้ การตัดเย็บหนังอันประณีตนั้นบ่งบอกได้ถึงราคาค่างวดของมัน ที่น้องบูมแอบกระซิบว่าเฉพาะค่าทำภายในอย่างเดียว แพงกว่าราคาตัวรถที่ซื้อมาอีก ซึ่งถ้าคุณได้มาเห็นกับตา ได้ลองนั่ง จะรับรู้ได้ถึงกลิ่นอายของความเป็นรถ BMW คลาสสิก ตรงจุดนี้ต้องยอมรับว่าเขาทำมาได้ยอดเยี่ยมประมาณหนึ่ง
เครื่องยนต์ สี่สูบเล็ก ๆ คาร์บูเรเตอร์เดี่ยว อย่าง M10 ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน ทำให้มันเป็นรถที่ดูแลรักษาง่าย ไม่จุกจิก ทำให้มันอยู่ในสายการผลิตยาวนานถึง 25 ปี โดยที่แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันถูกใช้ต่อไปอีกจนถึง E30 จนกระทั่งมีตัวตายตัวแทนอย่าง M40 เครื่องแรกมารับช่วงต่อไปใน E30 รุ่นปรับปรุงแล้วนู่น ที่เป็นอย่างนั้นเพราะมันถูกออกแบบมาอย่างดีที่สุดแล้วในยุคนั้น ถ้าไม่นับเรื่องน้ำหนักเครื่องที่มากกับอัตราการกินน้ำมันแบบดุเดือด มันก็ไม่ต้องการการเอาใจแบบประคบประหงม ถ้าไม่นับเวลาที่ระบบคาร์บูเรเตอร์มันรวนนะ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มันก็มาจากคาร์บูเรเตอร์นี่แหละ โดยน้องบูมก็ได้แก้ไขปัญหานี้ด้วย คาร์บูเรเตอร์ SOLEX 40 เป็นสิ่งที่ทำให้ E21 คันนี้พิเศษกว่าคันอื่น เสียงกระหึ่มของอากาศที่ถูกกระชากผ่านปากแตรเข้าไปโดยไม่มีอะไรขวางกั้น มันช่างเร้าใจ โดยมีอัตราเร่งที่จี๊ดจ๊าดมาเป็นผลกำไรในครั้งนี้อีกด้วย ก็ช่วยให้การใช้งานของน้องบูมนั้นเต็มอรรถรสมากขึ้น
ไม่ได้เป็นแค่เพียงรถคู่ใจสำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาวในสมัยนั้นจวบจนสมัยนี้เท่านั้น E21 ยังสร้างชื่อในวงการมอเตอร์สปอร์ตอีกด้วย ในช่วงปลายยุค 60’s และช่วงต้นของยุค 70’s นั้น BMW ประสบความสำเร็จอย่างมากในการแข่งขันรถยนต์ ด้วย 3.0 CSL หรือ Batmobile ในขณะที่คู่แข่งอย่าง PORSCHE นั้นแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ในปี 1977 จึงมีรถแข่งที่เบาและทรงพลังกว่าอย่าง BMW 320 E21 ถูกเปิดตัวขึ้นเพื่อรับช่วงลงแข่งในรุ่น Special Production Car ในการแข่งขัน Group 5 ต่อจากรุ่นพี่ของมัน และมีนิคเนม Flying Brick หรือ ก้อนอิฐบิน
ซึ่งก็เดาได้ไม่ยากว่ามาจากโป่งรูปทรงเหลี่ยมทื่อ ๆ ที่แปะอยู่กับซุ้มล้อทั้งสี่ ซึ่งมันได้รับอิทธิพลมาจากรุ่นพี่อย่าง Batmobile E9 แบบเต็ม ๆ นั่นเพราะทีม BMW Motorsport ใช้เวลาเพียง 3 เดือนก่อนลงแข่ง จึงไม่ได้มาพิถีพิถันกับเรื่องความสวยงามมากนัก แต่มุ่งเน้นไปให้ความสำคัญกับเครื่องยนต์ M12 ซึ่งเป็นเครื่อง BMW Formula 2 ที่พัฒนาจากพื้นฐานของเครื่อง M10 จนมีเรี่ยวแรงมากถึง 302 แรงม้า และชนะการแข่งขันในครั้งแรกที่ลงแข่งที่ Zolder Circuit โดยมี Marc Surer อยู่หลังพวงมาลัย ซึ่งตอนนั้นเขาสังกัดทีม BMW Junior Team ก่อนจะก้าวเข้าสู่การแข่งขัน Formula 1จนภายหลังการแข่งขัน Group 5 ถูกลดบทบาทลง เพื่อสนับสนุนการแข่งขัน Group 2 ซึ่งชุดแอโรพาร์ทจากรถแข่ง FIA Group 2 ที่ลดดีกรีความโหดลงมาให้เหมาะสมกับรถถนนนี่แหละที่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการยำใหญ่ E21 สีแดงอีกคันจากอู่ Touch Classic ย่านรามอินทรา ในครั้งนี้
สำหรับ E21 คันสีแดงที่เหมือนหลุดออกมาจากรายการแข่งขัน Group 2 นั้นต้องขอบคุณความเก่งกาจของทีมช่าง Touch Classic Garage ที่แต่งองค์ทรงเครื่องมันใหม่ด้วยชุดแต่งรอบคันที่มีต้นแบบมาตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยคุณชวาลา หนึ่งในนักแข่งยุคบุกเบิกของเหล่าบรรดา BMW ยังเฟื่องฟู และโชคดีที่หลงเหลือชุดแต่งเหล่านี้ไว้ให้ทั้ง ชุดโป่งล้อทั้งสี่ และสเกิร์ตหน้าชิ้นหนาที่ทำให้มันเป็นอสูรกายที่ดุดันขึ้นอีกเป็นกอง
ความตั้งใจในตอนแรกของรถคันนี้ เจ้าของอยากให้มันอออกมาในรูปแบบของรถแข่ง Group 2 แบบเต็มตัว นั่นหมายความว่าภายในจะเหลือแค่เพียงข้าวของที่จำเป็นเช่นชุดโรลเคจ เบาะบักเก็ทซีท กับพวงมาลัยเรซซิ่ง แต่เพราะอยากให้มันเป็นรถที่สามารถขับใช้งานได้ แผนจึงต้องเปลี่ยนนิดหน่อย เบาะที่ทรุดและปริจนเผยให้เห็นถึงฟองน้ำด้านในจึงถูกส่งไปหุ้มหนังใหม่ทั้งหมดให้เหมือนกับแบบดั้งเดิม
โดยจะมีสิ่งที่แตกต่างจาก E21 คันอื่นอย่างคันเกียร์จาก E36 ชุดแผงสวิตช์ควบคุมระบบไฟที่คอนโซลกลางและหน้าจอ Defi ZD ซึ่งเจ้าอุปกรณ์ 2-3 สิ่งในห้องโดยสาร กับเสียงเครื่องยนต์ดังหนักแน่นแบบนุ่มนวลในโทนต่ำแบบนี้ ทำให้เรารู้ว่าไม่เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไป ยิ่งทำให้อยากเห็นแล้วว่าภายใต้ฝากระโปรงของเจ้ารถบ้านในคราบรถ Group 2 นี้มีทีเด็ดอะไรอยู่
ผมช่วยคุณอั๋นช่างผู้ปลุกปั้นรถคันนี้มาตั้งแต่เริ่ม ยกฝากระโปรงหน้ามันออก ขีดเส้นใต้คำว่า ยกออก อีกครั้ง เพราะมันคือการยกออกมาจริง ๆ ไม่ใช่แค่เพียงการเปิดฝากระโปรง ทันทีที่ออกแรงยกทำให้รู้ได้ทันทีว่าฝากระโปรงทรงสวยบานนี้ทำมาจากไฟเบอร์กลาสน้ำหนักเบา ยังไม่ทันหายตกใจกับน้ำหนักของฝากระโปรงที่เบาหวิว ก็เผยให้เห็นฝาครอบวาล์วสีดำเมี่ยมของเครื่อง M50B25 ที่มาพร้อมกับการเก็บห้องเครื่องโล่งและสะอาดตามสมัยนิยม ถึงตอนนี้หายสงสัยแล้วว่าของแปลกปลอมในห้องโดยสารนั้นมีที่มายังไง
“ถึงแม้ว่า E21 จะมีรุ่นเครื่อง 6 สูบอย่าง M20 ใน 320 ที่ร้อนแรงสุดในยุคนั้น แต่ทั้งตัวเครื่องยนต์และเกียร์ของเครื่อง M50 นั้นมีขนาดใหญ่กว่าพอสมควรทำให้การวางเครื่อง M50 ลงสำหรับ E21 นั้นมีงานกองมหึมากองรอให้จัดการ เริ่มจากตัวถังที่ต้องทำการผ่าขยายทั้งผนังห้องเครื่องรวมถึงอุโมงค์เกียร์” คุณอั๋นเริ่มเล่าให้เราฟังถึงปัญหาอย่างแรกที่เจอ ก่อนจะตามมาด้วยปัญหาอื่น ๆ ที่เขาวิ่งเข้าตลอดระยะเวลาในการทำให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์อย่างเช่นระบบไฟฟ้าก็เป็นส่วนสำคัญ สำหรับการนำเอาเทคโนโลยีมาผสมผสานลงไปกับรถคลาสสิก “เกียร์อัตโนมัติของ M50 จะทำงานร่วมกับสัญญาณไฟฟ้าจากหน้าปัดและเซนเซอร์ต่าง ๆ รวมถึงระบบ ABS เพื่อควบคุมจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ให้แม่นยำ แน่นอนว่า E21จากยุค 70’s นั้น ไม่มีสัญญาณอะไรเหล่านี้มาให้หรอก ก็ต้องอาศัยการดัดแปลงเอาเซ็นเซอร์ต่าง ๆ มาติดตั้งเข้าไป เอาไว้ส่งสัญญาณให้กับกล่องควบคุมเกียร์ที่คิดค้นขึ้นมา เพื่อให้เกียร์สามารถเปลี่ยนจังหวะได้ตามปกติ”
ซึ่งการนำเอาเครื่องยนต์ 6 สูบ 2.5 ลิตร มาใส่ลงไปใน E21 ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่แปลกใหม่อะไร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายตั้งแต่การตั้งเครื่องให้ได้เซ็นเตอร์ พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบทั้งหมดที่ต้องยกกันมาแบบครบ ๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้แมตช์กัน ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ เฟืองท้าย รวมถึงชุดช่วงล่างที่อัพเกรดกันยกชุด ในด้านหน้าถูกทำให้ปีกนก หนวดกุ้ง และเบ้าโช้กอัพสามารถปรับได้ จึงสามารถปรับตั้งมุมล้อได้ทุกมุมทั้ง Camber, Toe หรือแม้กระทั่ง Caster ซึ่งการแก้ไขช่วงล่างนั้นทำให้ฐานล้อนั้นขยายออกมารับกับโป่งล้อได้อย่างที่มันควรจะเป็น และมีการยึดเกาะถนนที่ดีมาเป็นผลพลอยได้
ถึงแม้ว่าตอนนั้น E21 จะยังไม่มี M3 แต่ความรู้ที่เก็บเกี่ยวมาจากสนามแข่ง ก็ถือเป็นการกรุยทางมาอย่างดีสำหรับ 3 Series จึงทำให้เกิด M3 รุ่นแรกในรุ่นถัดมาอย่าง E30 ที่มาทำให้ชื่อเสียงด้านมอเตอร์สปอร์ตของ BMW โด่งดังจนปฎิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นรถสุดยอดตลอดกาล หรือแม้กระทั่งรุ่นล่าสุดอย่าง G20 ที่เพียบพร้อมในทุกด้านสำหรับการเป็นรถหรูหราแบบเรียบง่ายและมีความคล่องแคล่ว ล้วนแล้วก็ได้อานิสงส์มาจาก E21 นี่ทั้งนั้น สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นรถใช้งานที่เรียบง่าย หรือรถแข่งอันแสนดุดัน E21 นี้ก็ต่างเป็นฮีโร่ในใจของเจ้าของรถทั้งสองคันรวมถึงผู้ที่ชื่นชอบมันตลอดกาล
BMWCar Magazine Thailand Issue 50, March-April 2019
สมัครสมาชิกนิตยสารรายปี 6 เล่ม เพียง 1,000 บ. รับฟรี #BIMMERMEET3 T-Shirt Limited Edition มูลค่า 500 บ. คลิก bit.ly/BMWCar-Line
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น